๓ ลัคนา

โดย หมอเถาวัลย์ (อาจารย์อรุณ ลำเพ็ญ)

การอ่านดวงและอ่านดาวโดยทั่วๆไป แม้จะอ่านความหมายอย่างละเอียดถี่ถ้วยอย่างไร ก็ยังถือว่าขาดความสมบูรณ์แบบที่แท้จริง เพราะยังขาดจุดสำคัญอีกจุดหนึ่ง จุดนี้ถือได้เป็นจุดที่อาจารย์เก่าท่านปกปิดหวงแหนมาก เพราะถือว่าเป็นจุดไม้ตาย ซึ่งเป็นกลวิธีของโหรอย่างแท้จริง

การอ่านดวงชะตามิใช่มุ่งอ่านจากลัคนาแต่เพียงจุดเดียวเท่านนั้นก็หามิได้ เพราะบางครั้งจะอ่านความหมายได้ไม่สมบูรณ์ หรือไม่ชัดแจ้ง จะต้องมีจุดสอบหรือจุดขัดเพื่อให้ได้ความหมายที่แท้จริง อาจารย์เก่าท่านว่าดูจากลัคนาจุดเดียว ท่านเรียกว่าดูดวง “ขาเดียว” ถ้าเปรียบกับคน การยืนขาเดียว ยืนเดินก็ไม่ถนัดเพราะหลักไม่มั่นคง ท่านว่าต้องดู “สองขา” คือดูสอบจากอีกจุดหนึ่ง

จุดนั้นคือ “ตนุลัคน์” เพราะในดวงชะตาลัคนาคือชีวิตเจ้าชะตา และตนุลัคน์คือตัวเจ้าชะตา ดวงดาวที่ให้คุณให้โทษแก่ลัคนาหรือให้โทษให้คุณแก่ตนุลัคน์ก็มีผลเท่ากัน

ดวงดาวที่ให้คุณแก่ลัคนา แต่เมื่อเป็นโทษแก่ตนุลัคน์ คุณประโยชน์นั้นก็เป็นโทษแก่ตนุลัคน์คือคนด้วย ตนุลัคน์มีความสำคัญแก่ดวงชะตาเท่าๆกับลัคนา อาจารย์โหรเก่าท่านชอบผูกปริศนาว่า “การดูดวงต้องดู ๓ ลัคนา” ศิษย์ส่วนมากมักตีความปริศนาไม่ออก ที่สติปัญญาดีพอเห็นเงาบ้าง ก็ไม่รู้วิธีใช้และวิธีอ่าน นอกจากอาจารย์ท่านจะสอนให้จึงจะรู้แจ้ง

ที่ท่านว่า ๓ ลัคนา นั้นคือ

๑. ตัวลัคนาเอง

๒. ตนุลัคน์

๓. ตนุเศษ

๑ . ลัคนา บอกพื้นฐานของชีวิตตามฐานะของดาวในดวงชะตาและเหตุการณ์ที่จะเกิดแก่ชีวิต อันเกิดจาก คุณโทษแห่งดวงดาวเดิมและจร

๒. ตนุลัคน์ คือลัคนาที่ ๒ ที่จะบอกความเป็นไปของชีวิต และรับคุณรับโทษที่จะเกิดจากดวงดาวขณะจรไปในท้องฟ้า

๓ . ตนุเศษ บอกจิตใจ สันดาน และความปรารถนาของตัวเจ้าชะตา ในบางครั้งจิตใจปรารถนาและแสวงหา จะสร้างพฤติกรรมให้แก่ชีวิต ถึงจะอธิบายให้ละเอียดถี่ถ้วนอย่างไรท่านก็อาจเข้าใจเพียงแต่ว่าลัคนาคือลัคนา ตนุลัคน์คือตนุลัคน์ และตนุเศษคือตนุเศษอย่างที่นักเรียนรู้โหราศาสตร์ส่วนมากเข้าใจ แต่ใช้ไม่ถูกเพราะไม่อาจเข้าถึงความวิจิตรพิศดารของ ๓ ลัคนาได้ เพราะมีความซับซ้อนซ่อนเงื่อนมีแง่มุมมากมาย ความข้อนี้เปรียบได้ดังจะพรรณาถึงความเค็มของเกลือ ด้วยถ้อยคำหรืออักษรยืดยาวสักเท่าใด ก็ไม่อาจทำให้ผู้ฟังรู้รสเค็มของเกลือได้ เท่ากับลองชิมเกลือด้วยตนเอง ฉะนั้นการจะรู้ความหมายแห่ง ๓ ลัคนาได้ดี ก็คือการใช้อ่านดวงชะตาให้ท่านดูเป็นตัวอย่าง เพื่อท่านจะได้นำไปใช้เหมือนการชิมเกลือ

การอ่านพื้นดวงชะตา จะต้องจับเอาเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ประสงค์จะรู้ขึ้นมาทีละเรื่อง และเอาดาวเจ้าเรือนแห่งภพของเรื่องนั้นขึ้นมาเป็นหลักหรือเป็นตัวประธาน และอ่านดาวอื่นๆที่ทำมุมสัมพันธ์ ถึงเป็นความหมายเข้าประกอบ เรื่องให้สมบูรณ์มากขึ้น ดาวที่ทำมุมถึงโดยตรงย่อมให้น้ำหนักความหมายแรง ดาวที่สัมพันธ์ห่างๆย่อมส่งความหมายอ่อนแรงลงตามสภาวะที่ตนสัมพันธ์ถึง และคุณโทษก็ย่อมอ่อนแรงลงด้วย

บางราศีอาจมีดาวหลายๆดวง ร่วมราศีเดียวกัน อย่าพึ่งเอาดาวเหล่านั้นรวมกันพยากรณ์ออกมาเพียงเรื่องเดียว เสมือนเอาดาวใส่ครกตำปนรวมกัน แล้วเอามาปั้นเป็นยาลูกกลอนเพียงก้อนเดียว

บางท่านขาดความสนใจเจ้าเรือนแห่งภพ แต่จะไปจับดาวลอยที่เห็นในราศีในดวงชะตาเป็นเป้าพยากรณ์ไปตามกฎในตำราว่าไว้ ครั้นไปถึงราศีที่ว่างไม่มีดาวสถิต ก็ชักจะอึกอักติดขัด มักตะครุบโน่นตะครุบนี่ขึ้นมาเป็นคำพยากรณ์ โดยขาดหลักที่ยึดถือให้แน่นอนเป็นการพยากรณ์ในเชิงศิลป์ ซึ่งใช้ไหวพริบปฏิภาณ เปรียบเสมือนเปลือกหรือกะพี้ไม้ ซึ่งมิใช่ในเชิงศาสตร์ ที่ใช้หลักเกณฑ์ เปรียบเหมือนแก่นของไม้

ขั้นแรก เราจะได้พิจารณาตามกฎเกณฑ์ทีละจุดทีละจุด ซึ่งเสมือนเป็นการแนะเป็นการฝึกในแนวทางการอ่านดวงอ่านดาวในดวงชะตา

บุคคลิกภาพของเจ้าชะตา

ลัคนา คือ ตัวตนของเจ้าชะตาเมื่อขณะเกิด ลัคนาสถิตราศีมกรนั้น และความเป็นไปแห่งราศีนั้น ย่อมขึ้นกับอำนาจของเกษตรเจ้าเรือนที่จะครอบงำเจ้าชะตาให้เป็นไป เกษตรเจ้าเรือนแห่งลัคนา ๑ คือ ตนุลัคน์ ฉะนั้นลัคนาสถิตราศีมกร ซึ่งเสาร์ ๗ เป็นเกษตรเจ้าเรือน ฉะนั้นเสาร์ ๗ คือตนุลัคน์ของเจ้าชะตา

การพิจารณาบุคลิกภาพของเจ้าชะตาย่อมพิจารณาถึงธรรมชาติ และบุคลิกภาพของเสาร์ ๗ เป็นสำคัญ คือ ดูทรหดบึกบึน มีท่วงท่าเคร่งขรึมระมัดระวังอิริยาบทเชื่องช้าเยือกเย็น ขาดความกระฉับกระเฉงคล่องแคล่ว มีลักษณะหนักแน่นอดทน แต่ลักษณะนี้เป็นลักษณะของเสาร์ ๗ บริสุทธิ์ คือขณะที่เสาร์ ๗ เป็นเกษตรในเรือนตน

เมื่อเสาร์ ๗ สถิตในราศีสิงห์อันเป็นเรือนเกษตรของอาทิตย์ ๑ ย่อมรับเอาธรรมชาติและ บุคลิกภาพของดาวเกษตรเจ้าเรือนราศีที่ตนสถิตเข้าร่วมกับธรรมชาติและบุคลิกภาพของตน เป็นบุคลิกที่ผสมผสานระหว่างเสาร์ ๗ และอาทิตย์ ๑ เจ้าเรือนราศีสิงห์

เสาร์ ๗ เคยมีทีท่าระมัดระวังและถ่อมตน จะมีลักษณะของอาทิตย์ ๑ คือองอาจ สง่าผ่าเผย ขึ้น ดูเหมือนจะไว้ตัวขึ้น เคยล่าช้าอืดอาดเพราะธรรมชาติของเสาร์ ๗ แต่เมื่อผสมธรรมชาติของอาทิตย์ ๑ ซึ่งคล่องแคล่ว ก็จะคลายความอืดอาดลง คล่องตัวขึ้นจากเดิม และมีแววของอาทิตย์ ๑ คือดูกล้าแข็งจริงจังมากขึ้น และเมื่อพิจารณาทางมุมสัมพันธ์ของดาวในลักษณะแฝงดาวเกษตร คือเมื่อเสาร์ ๗ สถิตเรือนอาทิตย์ขณะนั้นอาทิตย์๑ ไปสถิตราศีมิถุน โดยพุธ ๔ และมฤตยู 0 ร่วมราศีด้วยอาทิตย์ ๑ จึงอาศัยสื่อจากอาทิตย์ ๑ ลงมาสัมพันธ์ถึงเสาร์ ๗ ซึ่งสถิตในเรือนของอาทิตย์ ๑ ฉะนั้นบุคลิกภาพของเสาร์ ๗ จึงมีความหมายและธรรมชาติของพุธ ๔ และมฤตยู 0 แฝงมารวมอยู่ด้วย เพียงแต่ว่าไม่รุนแรงและเข้มข้นเหมือนอาทิตย์ ๑ ซึ่งเป็นเจ้าเรือนที่เสาร์ ๗ สถิตอยู่เพราะครอบงำเต็มที่ ถ้าจะเขียนเป็นรูปแบบ ก็จะเป็นดังนี้

เสาร์ ๗ + อาทิตย์ ๑…..พุธ ๔ และ มฤตยู 0

ธรรมชาติของพุธ ๔ คล่องตัวปรับสภาพได้เร็ว มีความกระตือรือร้น ตื่นตัวเสมอ ส่วนมฤตยู 0 ทำให้ดูลึกลับ

ฉะนั้น สรุปเสาร์ ๗ ตนุลัคน์ของเจ้าชะตาจะมีบุคลิกภาพ มีความองอาจและมีความกระตือรือร้นและคล่องตัว ทำการใดพินิจพิจารณาถี่ถ้วน มีการฝีมือเรียบร้อย อิริยาบทเคลื่อนไหวไม่อืดอาดล่าช้านัก และท่วงท่าสงบดูระมัดระวัง และดูลึกลับเข้าใจยากจากการดูลักษณะท่าที

อุปนิสัยและจิตใจ

ดาวซึ่งแสดงถึงอุปนิสัยและจิตใจ ในระบบโหราศาสตร์ไทยเรียก “ตนุเศษ” เป็นดาวที่ถูกกำหนดขึ้นในดวงชะตาโดยกฎเกณฑ์ซึ่งจะเขียนให้ละเอียดถี่ถ้วนในบทข้างหน้า แต่ที่แสดงไว้ในที่นี้เพื่อให้รู้ความหมายวิธีใช้พยากรณ์ โดย ๓ ลัคนา ดาวตนุเศษในดวงนี้ คือ ดาวพุธ ๔ ซึ่งสถิตในราศีมิถุนเป็นเกษตร และสังเกตเครื่องหมายของดาวที่เป็นตนุเศษในดวง ซึ่งทั่วๆไปจะกากะบาดกำกับไว้เหนือดาว นั้น

ดาวจิตใจที่เป็นดาวพุธ ๔ จะมีธรรมชาติของพุธ ๔ นั้นเอง เป็นนิสัยคือมีความคิดความเข้าใจเร็ว ชอบคิดหาเหตุผลแยกแยะสิ่งต่างๆได้ดี มีความคิดดัดแปลงพลิกแพลงได้เก่ง และมีวิธีการเป็นของตนเองเสมอ ชอบแสดงความคิดเห็นชอบวิจารณ์ ฉลาดในทางใช้คำพูดและสามารถปรับจิตใจเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ดีและเหมาะสมกับสถานะการณ์ได้เสมอ (พุธ ๔ เป็นเกษตร จึงมีจิตใจมั่งคงดี ถ้าพุธ ๔ ไม่เป็นเกษตรจะหวั่นไหว เปลี่ยนแปรได้โดยง่าย)

ชีวิตและวาสนาชองเจ้าชะตา

จุดที่จะดูถึงสภาวะชีวิตของเจ้าชะตา ก็คือจุดแห่งลัคนา และจุดที่ลัคนาจะเป็นไป ก็คือเจ้าเรือนแห่งลัคนา คือ ตนุลัคน์นั้นเอง หรือจะเข้าใจง่ายๆก็คือ ชีวิตเจ้าชะตาก็คือตนุลัคน์นั้นเอง

ก. ตนุลัคน์เจ้าชะตา คือ เสาร์ ๗ ครรลองเบื้องแรก คือ ความหมายของเสาร์ ๗ ต้องมานะบากบั่นพยายาม เพราะเสาร์ ๗ จะต้องเหนื่อยยาก

ข. ตามดูเสาร์ ๗ เข้มแข็ง อ่อนแอสถานใด เสาร์ ๗ สถิตราศีสิงห์มิได้มีตำแหน่งใด แต่เสาร์ ๗ ซึ่งมีธาตุไฟ สถิตในราศีสิงห์อันเป็นราศีธาตุไฟอันเป็นธาตุเดียวกับตนสถานหนึ่ง อีกสถานหนึ่งเสาร์ ๗ สถิตในราศีสิงห์อันเป็นเรือนเกษตรของอาทิตย์ ๑ ซึ่งเป็นดาวคู่ธาตุไฟด้วยกัน สถานะของดาวเสาร์ ๗ จึงเข้มแข็งเพราะอยู่ในราศีธาตุของตนและเรือนคู่ธาตุของตน

ค. ดาวเสาร์ ๗ ตนุลัคน์สถิตราศีสิงห์ ภพมรณะแห่งลัคนา หมายความว่า ตนุลัคน์-มรณะ คือ ตนเองจากไกล พ้นไปจากลัคนา คือพ้นไปจากถิ่นฐานที่เกิด หรือตนเองเสียหายผิดพลาด ตนเองป่วยไข้ ความหมายที่จะขยายหรือรับกับข้อความนี้ก็คือ ดาวจังหวะที่ ๒ คือ ตามดูอาทิย์๑ เจ้าเรือนที่เสาร์๗ สถิตไปอยู่ภพอริแห่งลัคนา เป็นการย้ำความหมายมรณะในช่วงแรกให้มีความหมายหนักแน่นในทางที่เป็นโทษยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นรูปภพว่า ตนุ-มรณะ—อริ คือ ตนเองมีชีวิตล้มเหลวหรือผิดพลาดเสียหายโดยมีอุปสรรค และความยุ่งยากเดือดร้อน ต้องต่อสู้ดิ้นรน

ง. เสาร์ ๗ สถิตเรือนอาทิตย์๑ และอาทิตย์ ๑ ไปสถิตราศีมิถุนร่วมราศีกับพุธ ๔ ซึ่งเป็นเกษตรแห่งภพอริ แห่งราศีมิถุนและพุธ ๔ ยังเป็นเกษตรเจ้าเรือนอีกราศี คือ ราศีกันย์ซึ่งเป็นภพศุภะของลัคนาด้วย ฉะนั้นพุธ ๔ ก็แฝงความหมายในความเป็น อริ-ศุภะ ผ่านสื่อจากอาทิตย์ ๑ ลงมาสู่ราศีสิงห์สัมพันธ์ถึงเสาร์ ๗ ตนุลัคน์ โดยแฝงดาวเกษตรอาทิตย์ ๑ เป็นความหมายว่า ในความมรณะเสียหาย ล้มเหลว ผิดพลาดโดยอริ-อุปสรรคและเดือนร้อนนั้น มีระยะยาวนาน (จากความเป็นเกษตรของพุธ ๔) และขณะเดียวกันพุธ ๔ เจ้าเรือนราศีกันย์ ก็จะให้ความช่วยเหลือ และที่พึ่งพาอาศัย คือในความลำบากเดือนร้อนนั้นยังมีผู้อุปการะช่วยเหลือพอพึ่งได้บ้าง ไม่สิ้นไร้ไม้ตอกเสียทีเดียว แต่ความเป็นศุภะของพุธ ๔ นั้น ส่งผลในภพอริเป็นความช่วยเหลือที่ไม่เต็มไม้เต็มมือ คือช่วยไม่เต็มที่ และดาวพุธ ๔ เกษตรสองเรือนนี้จะให้ผลทางภพอริหนักแน่นรุนแรงกว่าภพศุภะ เพราะพุธ ๔ เจ้าเรือนเป็นเกษตรเน้นทางภพอริอยู่เต็มตัว

ส่วนมฤตยู 0 ที่สถิตร่วมอาทิตย์ ๑ ก็จะแฝงอำนาจและความหมายมาตามอาทิตย์ ๑ เข้าสัมผัสกับเสาร์ ๗ ในเรือนอาทิตย์ ๑ เช่นกัน โดยที่มฤตยู 0 เป็นดาวที่เพิ่มแรงของความหมายในภพและดาวที่ตนร่วมด้วยให้มีผลตามความหมายของตน คือ ความเสียหายผิดพลาด เดือดร้อน ตามความหมายของเสาร์ ๗ และอาทิตย์ ๑ นั้น เป็นความผันแปรวิบัติที่นอกเหนือเหตุผลธรรมดา (มฤตยู 0 ลึกลับ พิสูจน์เหตุผลมิได้) พูดภาษาหมอดูเขาว่า เสียหายเดือนร้อนเหมือนผีเช่ง

ท่านอาจสงสัยหรือมีปัญหาถามตัวเองขึ้นมาว่า ถ้าในลักษณะของดาว อริ-มรณะ เช่นนี้ คนๆนี้มิเอาตัวไม่รอดตลอดชีวิตหรือ จะทุกข์ยากเดือดร้อนไปตลอดชีวิตหรือ เพราะแง่มุมของดาวมิได้บอกถึง มุมดี เสียเลย….ยังก่อน การพิจารณานี้เป็นเพียงขั้นแรก

ขั้นที่สอง พิจารณาในจุดของลัคนาที่ ๒ ว่าเหตุการณ์เช่นนั้นแน่หรือ ลัคนาที่ ๒ คือ ใช้ตนุลัคน์นั้นเองเป็นลัคนาขึ้นมาวัดมุมของดาวเสมือนเช่นเดียวกับลัคนาที่ ๑ เป็นการวางลัคนาซ้อนลงไปในดวงชะตาอีกลัคนาหนึ่ง เพียงแต่ว่า ลัคนา ๒ (ตนุลัคน์ ) ใช้เป็นจุดที่จะวัดสอบดาวที่ก่อเหตุ สร้างเหตุนั้นๆ สถิตเป็นภพที่เท่าใดกับตนุลัคน์โดยลืมลัคนาที่ ๑ เสียชั่วขณะ

ดังเช่นกรณีนี้ ชีวิตเจ้าชะตาในเบื้องแรกคือเสาร์ ๗ ก็จะเอาตนุลัคน์ดูเข้าหาเสาร์ ๗ ซึ่งที่แท้ก็คือตัวเองของตนุลัคน์นั้นเอง จึงอ่านว่า “ตนุ” และก็ใช้ระบบการอ่านดาว ๒ จังหวะเช่นเดียวกันกับลัคนาตัวจริง คือ เมื่อตนุลัคน์อ่านมาที่เสาร์๗ ตัวเองได้ความหมายตนุแล้ว ก็จะตามดูอาทิตย์ ๑ เจ้าเรือนเสาร์ ๗ สถิตไปอยู่ภพใดกับตนุลัคน์ อาทิตย์ ๑ ไปสถิตภพที่ ๑๑ จากตนุลัคน์ ก็คือหมายถึงเป็นตำแหน่งลาภะกับตนุลัคน์ ซึ่งความหมายของลาภะ หมายถึงความสำเร็จผล ความรุ่งเรือง

เมื่อความหมายทางลัคนาและทางตนุลัคน์ขัดแย้งกัน มุมหนึ่งดี มุมหนึ่งร้ายเช่นนี้ จะพยากรณ์ว่าอย่างไรดีหรือร้าย

ขอทำความเข้าใจในเรื่องของลัคนาและตนุลัคน์เพิ่มเติมเสียก่อน เพื่อความเข้าใจอันดีในการอ่านดวงชะตาต่อๆไป คือ

ลัคนา คือ เป็นตัวตน และ ชีวิตของเจ้าชะตาขณะเมื่อเกิด หรือนิยามความหมายก็คือพื้นฐานของชีวิต

ตนุลัคน์ คือ ตัวตนและชีวิตของเจ้าชะตาเช่นกัน แต่เป็นภาวะชีวิตในการดำเนินชีพต่อมา

ฉะนั้นในกรณีที่ดาวในช่วงแรกบอกถึงความหมายในทาง อริ-มรณะ นั้นจากมุมลัคนาย่อมเป็นเหตุให้เกิดขึ้นเป็นความผิดพลาดเสียหายเดือดร้อนลำบากลำบน แล้วในช่วงต่อมาหรือในวัยต่อมาจึงจะประสบความสำเร็จราบรื่นได้จากมุมของตนุลัคน์ คือชีวิตต้นร้ายปลายดี จะต้องทุกข์ยากลำบากมาเสียก่อน แล้วจะเอาดีได้ในภายหลัง คือ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดทั้งสองมุมทั้งทางลัคนาและทางตนุลัคน์ต่อเนื่องกัน

โปรดอย่าเอาความหมายดี-ร้าย คุณและโทษของดาวที่แสดงความหมาย มาบวกลบกัน แล้วเอาผลแต่เพียงสถานเดียวมิได้ เป็นการผิดธรรมชาติวิสัยของชีวิตมนุษย์ที่แท้จริงซึ่งมีทั้งสุขทั้งทุกข์ ทั้งดีทั้งชั่ว ทั้งผิดหวังและสมหวัง

ขั้นที่สาม พิจารณาถึงลัคนาที่ ๓ คือ “ตนุเศษ” คือ จิตใจ และความรู้สึกนึกคิดของเจ้าชะตา การใช้ตนุเศษพิจารณาดาวที่ก่อเหตุนี้ จริงอยู่เราอาจเรียกสมมุตว่าเป็นลัคนาที่ ๓ แต่ผลการพิจารณานี้มิได้มีผลเหมือนลัคนาหรือตนุลัคน์ ซึ่งทั้งสองลัคนาแรกนี้ พิจารณาในเหตุที่เป็นไปจะเกิดผลเช่นใด

แต่ดาวแห่งจิตใจนั้น พิจารณาเพียงแต่ผลทางความรู้สึกที่เขารับรู้ หรือสิ่งที่เขาปรารถนาเท่านั้น ไม่มีผลที่จะทำให้เหตุการณ์และผลดีร้ายจากทางลัคนาและตนุลัคน์มีความเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่นไม่เพียงแต่บอกถึงภาวะความรับรู้ทางจิตใจ และความหวังตั้งใจและความรู้สึกของเจ้าชะตาเท่านั้น

กลวิธีการใช้ตนุเศษพิจารณาก็เป็นวิธีเดียวกับตนุลัคน์ คือ ตั้งจุดที่ตนุเศษและมองวัดเข้าหาตามที่ประสงค์จะดูในเรื่องนั้นโดยตามดาว ๒ จังหวะ อ่านความหมายจากตำแหน่งดาวที่ทำมุมกันตนุเศษเป็นความหมายในการพยากรณ์

ในขั้นแรก เราปรารถนาจะดูภาวะชีวิตของเจ้าชะตา ก็คือดูเสาร์ ๗ เป็นดาวหลักในขั้นแรกโดยดูจากพุธ ๔ ตัวตนุเศษ เข้าหาดาวเสาร์ ซึ่งสถิตเป็น ๓ แก่ตนุเศษ คือ เป็นสหัชชะกับตนุเศษ ความหมายของภพสหัชชะ คือการเปลี่ยนแปลง สังคม เพื่อน ชื่อเสียง สิ่งแวดล้อม

เอาความหมายสหัชชะทางตนุเศษพุธ ๔ กับเสาร์ ๗ ประกอบความหมายของเสาร์ ๗ ซึ่งสถิตเป็นมรณะกับลัคนา จะได้ สหัชชะ+มรณะ คือ ความหมายว่า ตนจาก(มรณะ) มาเพื่อหวังจะสร้างชีวิตที่มีเพื่อนสังคม และหวังชื่อเสียง คือปรารถนาที่จะใช้ชีวิตในโลกกว้างในสังคม และสิ่งแวดล้อมใหม่นั้นเอง

เมื่อตามดูอาทิตย์ ๑ เจ้าเรือนที่เสาร์ ๗ สถิต ไปเป็นจังหวะที่ ๒ อาทิตย์ ๑ สถิตในราศีมิถุนร่วมด้วยพุธ ๔ ตนุเศษ ๔ ซึ่งอ่านว่า “ตนุ” และการร่วมราศีกันระหว่างอาทิตย์ ๑ เจ้าเรือนมรณะที่เป็นเหตุจากเสาร์ ๗ ตนุลัคน์สถิตอยู่เป็นจังหวะแรกนั้นกับพุธ ๔ ตนุเศษในราศีมิถุน ซึ่งเป็นภพอริแห่งลัคนา

เป็นความหมายคือ การตนุลัคน์เสาร์ ๗ จากมาไกลมาเพื่อหวังความเปลี่ยนแปลงชีวิตแม้จะรู้ว่าตนจะลำบากและต้องต่อสู้ (อริ) มากเพียงใดก็ตาม จิตใจตนเองก็พร้อมจะรับความลำบากนั้นเสมอนั่นเอง



#บทความหมอเถา (วัลย์) #บทความโหราศาสตร์ #โหราศาสตร์ #ดาราศาสตร์